• ปรับขนาด
    ตัวอักษร
 
แหล่งท่องเที่ยว
เจดีย์วัดหลง

เจดีย์วัดหลง ตั้งอยู่ หมู่ 4 ตำบลตลาดไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ประวัติ :

 

          วัดหลงตั้งอยู่ระหว่างวัดเวียงกับวัดแก้ว มีคลองไชยาไหลผ่านทางด้านทิศใต้ห่างจากวัดประมาณ 30 เมตร วัดแห่งนี้ปัจจุบันเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าชื่อวัดแห่งนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “วัดหลวง” บริเวณวัดมีซากอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งเหลือเพียงส่วนฐาน เนื่องจากอิฐส่วนบนถูกรื้อไปทำกำแพงแก้วในคราวบูรณะพระบรมธาตุไชยา สภาพก่อนการขุดค้นเป็นเนินดินปนเศษอิฐมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นมีซากพระพุทธรูปวางกองระเกะระกะทั่วไป ต่อมาหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้ดำเนินการขุดค้นส่วนฐานของอาคารในปี 2489 และกองโบราณคดี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี และบูรณะโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งในระหว่าง พ.ศ.2524-2527

 

          ภายหลังการขุดค้นเผยให้เห็นอาคารจตุรมุขที่มีรูปแบบแผนผังทรงกากบาทคล้ายคลึงกับโบราณสถานวัดแก้ว ขนาดอาคารกว้างยาวด้านละ 21.65 เมตร คงเหลืออยู่เฉพาะส่วนฐานและส่วนเรือนธาตุตอนล่างเท่านั้น ตัวเรือนธาตุมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน โดยสามารถเข้าไปยังห้องโถงกลาง (ห้องครรภคฤหะ) ได้ทางมุขด้านทิศตะวันออก ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยเสาประดับอาคารอยู่ตรงกึ่งกลางด้านการก่ออิฐไม่สอปูน และมีการขัดหน้าอิฐจนเรียบ ส่วนฐานรากนั้นใช้หินขนาดใหญ่ถมอัด

 

          นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของการก่อสร้างขยายต่อเติมอาคารซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นกิจกรรมในสมัยอยุธยา และเชื่อกันว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจเป็นหนึ่งในปราสาทสามหลังซึ่งพระเจ้ากรุงศรีวิชัยโปรดฯ ให้สร้างเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี และพระโพธิสัตว์วัชรปาณี ตามที่ปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 23 (จารึกวัดเสมาเมือง)

 

โบราณวัตถุ :

1. พระพิมพ์ดินเผา อิทธิพลศิลปะขอม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19

2. เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยสุโขทัย และภาชนะดินเผาพื้นบ้าน

 

อายุสมัย :

แรกเริ่มประวัติศาสตร์ (พุทธศตวรรษที่ 14-15) และสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20-24)

 

การขึ้นทะเบียน : 

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 1532 วันที่ 27 กันยายน 2479